คำขวัญ อำเภอกาญจนดิษฐ์
“หอยใหญ่นางรม ชมวิทยาลัยฝึกลิง มากยิ่งกุ้งกุลาดำ
งามถ้ำพระไสยาสน์ พุทธบาทควรผดุง รุ่งเรืองเมืองท่าทอง”

ประวัติ
อำเภอกาญจนดิษฐ์ เป็นเมืองเก่าแก่มาตั้งแต่โบราณกาล คาดว่ามีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-19 ดังปรากฎในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า พระพนมวังและนางสะเดียงทอง ซึ่งสร้างเมืองนครศรีธรรมราช ให้เจ้าศรีราชาราชบุตรไปปกครองสร้างไร่นาที่เมืองสะอุเลา อันเป็นเมือง 12 นักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาเจ้าศรีราชาก็ได้พญาศรีธรรมราชโศกราชครองเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาซึ่งเมืองสะอุเลา (ชื่อเมืองสะอุเลาก็ปรากฎในกฎมณเฑียรบาลด้วย) นี้ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชความหมายว่าเป็นเมือง ” ท่าทอง ” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมืองกาญจนดิษฐ์
จากหลักฐานทางโบราณคดี เชื่อว่าตัวเมืองกาญจนดิษฐ์ได้มีการย้ายมาหลายครั้งแล้ว ครั้งแรกตั้งบ้านเมือง สร้างเมืองครั้งแรกท่บ้านเขาน้อยก่อน ต่อมาในรัชกาลที่ 2 ประมาณ พ.ศ. 2336 ก็ได้ย้ายเมืองที่ท่าทองไปอยู่ริ่มฝั่งซ้ายคลองท่าเพชร (ต่อมาเปลี่ยนเป็นคลองท่าทองใหม่) ชาวบ้านนิยมเรียกเมือง อยู่ที่ตำบลท่าทอง (อุแท) เพราะมีวัดเก่าอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเสียแก่พม่าคราวพระเจ้าปะดุง กษัตริย์พม่าแต่งกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย เมืองท่าทองคงถูกทำลายและผู้คนหลบลี้หนีไปหมด ผู้ปกครองในขณะนั้นเห็นเหลือที่จะบูรณะได้ จึงย้ายไปอยู่ริมคลองกะแดะ ซึ่งเป็นที่ตั้งอำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน (สมเด็จกรมพระยานริศฯ ทรงสันนิษฐานว่าการย้ายเมืองครั้งนี้คงจะไปใหม่ว่า ” ท่าทองใหม่ ” ) ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อเจ้าพระยานคร (น้อย) เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าให้ย้ายเมืองท่าทองไปตั้งที่บ้านดอนและพระราชทานนามว่า ” เมืองกาญจนดิษฐ์ ” เพราะมีผู้คนหนาแน่นกว่า พร้อมทั้งยกฐานะเป็นเมืองจัดวาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ สมัยเมื่อตั้งมณฑลเมืองกาญจนดิษฐ์ ได้รวมอยู่ในมณฑลชุมพร และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองไชยา ชื่อเมืองกาญจนดิษฐ์เลยหายไป
ในรัชกาลที่ 6 เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชดำริว่า ต่อไปเมืองจะย้ายไปอยู่ที่ท่าข้ามที่รถไฟผ่าน จึงพระราชทานนามว่า ” ท่าข้าม ” ว่าสุราษฎร์ธานี ครั้นเมื่อมีการจัดระเบียบการปกครองท้องที่ใหม่เป็นรูปจังหวัด อำเภอ ก็เอานามสุราษฎร์ธานีมาเป็นจังหวัด สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสนบดีกระทรวงมหาดไทย กลัวว่าชื่อกาญจนดิษฐ์จะหายไป จึงตรังสั่งให้เรียกเมืองเก่าว่า ” อำเภอกาญจนดิษฐ์ ” และย้ายเมืองกลับไปตั้งที่ริมคลองกะแดะเช่นเดิมและคงอยู่จนปัจจุบันนี้
คำว่า ” กาญจนดิษฐ์ ” ปัจจุบัน เดิมใช้ว่า ” กาญจนดิษฐ ” ซึ่งแปลว่า ” ท่าทอง” อันเป็นชื่อเมืองเดิม แต่เมื่อราชบัณฑิตยสถานได้ออกประกาศว่าด้วยชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ปี พ.ศ. 2540 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ” กาญจนดิษฐ์ ” ซึ่งแปลได้อีกความหมายหนึ่งแต่ก็ได้ใช้เรื่อยมาจนปัจจุบัน